Site icon aviNews, la revista global de avicultura

ซีพีเอฟพัฒนาฟาร์มต้นแบบพลังงานทดแทน สร้างความมั่นคงด้านความอย่างยั่งยืน

Escrito por: aVinews Thailand

ในยุคที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนและส่งผลกระทบต่อโลกทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม การแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนจึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะในระดับขององค์กรธุรกิจหรือระดับโลก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมรับผิดชอบต่อการดูแลสิ่งแวดล้อม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้แสดงจุดยืนชัดเจนในการเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยใช้พลังงานทดแทนในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ (Feed) การดูแลฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Farm) ไปจนถึงการแปรรูปอาหาร (Food) เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ล่าสุด ซีพีเอฟได้ยกระดับความมุ่งมั่นด้วยการพัฒนาฟาร์มในรูปแบบ RE100 (Renewable Energy 100%) ซึ่งเป็นแนวทางการใช้พลังงานทดแทนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากฟาร์มไก่ไข่ที่จันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขาวงกต อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ฟาร์มแห่งนี้เป็นฟาร์มคอมเพล็กซ์ที่นำมูลไก่มาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มได้ประมาณ 80% จากเดิมที่เคยพยายามนำพลังงานทดแทนมาใช้เพียงบางส่วน ปัจจุบันได้พัฒนาจนกลายเป็นฟาร์มต้นแบบที่ใช้พลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ ได้รับการรับรองเป็น “RE100 Farm” จากบริษัท LRQA (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นฟาร์มไก่ไข่แห่งแรกของซีพีเอฟที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และก๊าซชีวภาพจากมูลไก่ รวมทั้งแนวคิด Waste to Value ที่เปลี่ยนของเสียให้เกิดคุณค่า โดยไม่ปล่อยมลพิษหรือของเสียสู่ภายนอก

นายสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ด้านธุรกิจไก่ไข่ของซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นในการผลิตไข่ไก่ที่ช่วยลดโลกร้อน ด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตแบบคอมเพล็กซ์มาใช้ โดยมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ โรงคัดไข่อัตโนมัติ และโรงงานแปรรูปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนด้านการขนส่งและง่ายต่อการควบคุมความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเน้นการนำมูลไก่มาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มทุกแห่ง และมุ่งพัฒนาฟาร์มต้นแบบที่ใช้พลังงานทดแทน 100% ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ได้รับการรับรองเป็น RE100 Farm จาก LRQA อีกด้วย

นายพีรพงศ์ กรินชัย ผู้บริหารสูงสุดด้านวิศวกรรมของซีพีเอฟ ได้กล่าวเสริมว่า ฟาร์มไก่ไข่จันทบุรีเป็นตัวอย่างของการนำมูลไก่มาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้า อีกทั้งในปี 2566 ฟาร์มได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 360 กิโลวัตต์พีค (kWp) บนหลังคา ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทอัลเตอร์วิม ส่งผลให้ฟาร์มสามารถผลิตพลังงานสะอาดใช้เองได้ 100% พร้อมกับติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (EMS) ซึ่งสามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากภายนอกและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้กว่า 105,000 ต้น

ซีพีเอฟยังตั้งเป้าขยายการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพและพลังงานแสงอาทิตย์ในฟาร์มอื่น ๆ ขององค์กร เพื่อพัฒนาฟาร์มให้เป็น RE100 อย่างต่อเนื่อง โดยหวังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อย่างมั่นคงและยั่งยืน

Exit mobile version