Site icon aviNews, la revista global de avicultura

ส่งออกเนื้อไก่ไทย 10 เดือน ปี 67 สร้างรายได้กว่า 1.2 แสนล้านบาท แนวโน้ม ปี 68 เติบโตต่อเนื่อง

Escrito por: aVinews Thailand

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าเนื้อไก่อย่างใกล้ชิด โดยคาดการณ์ว่าปี 2568 จะเป็นปีที่ปริมาณการส่งออกเนื้อไก่ทั่วโลกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เติบโตขึ้น 2% สู่ระดับ 13.8 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการส่งออกสินค้าไก้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่ารวมถึง 3,592.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 126,976 ล้านบาท) เติบโตขึ้น 4.9% ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการส่งออกไก่ปรุงสุกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า ในปี 2568 ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเฝ้าระวังการแข่งขันจากบราซิล ผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับหนึ่งของโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) พบว่า การผลิตเนื้อไก่ทั่วโลกในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2% หรือราว 104.9 ล้านตัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาสัตว์อาหารที่ปรับตัวลดลง และความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการผลิตที่เพิ่มขึ้นในจีน ซึ่งอาจทำให้จีนกลับมาเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกอีกครั้ง

สำหรับตัวเลขการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 พบว่ามีมูลค่ารวม 3,592.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก คือ

  1. ไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง มูลค่า 1,131.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
  2. ไก่แปรรูป มูลค่า 2,461.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

คาดว่าในปี 2568 การส่งออกเนื้อไก่ของโลกและไทยจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และประเทศผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่อื่น ๆ เช่น บราซิล สหภาพยุโรป ก็มีแนวโน้มขยายตัวดีเช่นกัน ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปอันดับที่ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน เคยมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก สำหรับปี 2566 ไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 25.8% ของมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปของโลก รองลงมา คือ จีน (สัดส่วน 11.0%) เยอรมนี (สัดส่วน 9.3%) โปแลนด์ (สัดส่วน 8.9%) และเนเธอร์แลนด์ (สัดส่วน 8.6%) ตามลำดับ ดังนั้น ไทยต้องรักษาความสามารถทางการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งตลาด และขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ โดยต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ดูแลต้นทุนการเลี้ยงไก่ของไทยให้เหมาะสมเพื่อสินค้าไทยแข่งขันได้ ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

Exit mobile version