“จากเปลือกทุเรียน สู่อาหารสัตว์คุณภาพสูง” ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG
โดยวิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดีปากน้ำโพ
นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องการลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ซึ่งเป็นแนวทางที่ผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดปริมาณของเหลือในภาคการเกษตรที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะ และช่วยลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงโคเนื้อมาตรฐาน GAP โดยติดตามการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดี ในตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม BCG Model โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการผลิตอาหารเลี้ยงโคเนื้อจากเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น เปลือกทุเรียน ฟางข้าว และเศษอ้อย ผ่านกระบวนการหมักจุลินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์มเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 โดยมีนางวิยะดา ธีระราษฎร์ เป็นประธาน และดร.นิติพล พลสา นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับนายภูชิต มิ่งขวัญ ซึ่งทำหน้าที่ประสานงาน มีสมาชิกเกษตรกร 17 ราย ที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรประเภทอื่นเป็นหลัก แต่เข้ามามีส่วนร่วมและเรียนรู้กระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน วิสาหกิจฯ มีพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อจำนวน 5 ไร่ โดยมีโคเนื้อจำนวน 50 ตัว และได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้ได้รับอาหารสัตว์หมักจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงและเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร
เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่วิสาหกิจฯ เลือกใช้เป็นหลักคือ เปลือกทุเรียน ซึ่งมีปริมาณสารอาหารสูง โดยเฉพาะเยื่อใย ไขมัน และโปรตีน สามารถใช้ทดแทนอาหารหยาบและอาหารข้นได้ โดยจะนำเปลือกทุเรียนมาผลิตอาหารเลี้ยงโคเนื้อในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคมของทุกปี ซึ่งจะมีเปลือกทุเรียนเหลือทิ้งจำนวนมากในแต่ละวัน
วิสาหกิจฯ เก็บรวบรวมเปลือกทุเรียนจากผู้ขายในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ในปริมาณเฉลี่ย 60-80 ตันต่อปี โดยต้นทุนการผลิตอาหารโคเนื้อจากเปลือกทุเรียนหมักจุลินทรีย์อยู่ที่ประมาณ 1.7 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนอาหารหยาบทั่วไปที่ทำจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีค่าเฉลี่ย 2 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เห็นว่าอาหารจากเปลือกทุเรียนสามารถช่วยลดต้นทุนได้ถึง 15%
ในกระบวนการหมักจะเริ่มจากการคัดแยกสิ่งปะปนออกจากเปลือกทุเรียน จากนั้นจะใช้เครื่องสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ เหมาะสมสำหรับการบริโภคของวัว ก่อนจะบรรจุลงในภาชนะหมักและราดด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุกรรมด้วยเทคนิคพลาสมาพลังงานต่ำ โดยใช้เวลาในการหมักประมาณ 7 วัน ก่อนที่จะสามารถใช้เป็นอาหารโคได้
เนื่องจากความสำเร็จในการขับเคลื่อนภายใต้ BCG Model วิสาหกิจฯ ได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดีเด่นจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ในปี 2565 และรางวัลสาขานักธุรกิจนวัตกรรมจากการประกวด NSP Innovation awards 2022
ในอนาคต วิสาหกิจฯ มีแนวทางพัฒนาฟาร์มให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยจะสนับสนุนเกษตรกรในชุมชนให้มีความรู้และเครื่องมือในการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานอินทรีย์ รวมถึงการพัฒนาฟาร์มให้มีความยั่งยืนภายใต้โครงการโคกหนองนา โมเดล พันเพียร เคียงฝัน ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่ด้วยหลักการเกษตรธรรมชาติ เพื่อสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ
หากท่านสนใจเข้าชมฟาร์มหรือศึกษาดูงาน สามารถติดต่อได้ที่ คุณภูชิต มิ่งขวัญ โทร 09 1859 4560