Site icon aviNews, la revista global de avicultura

ไทยลุ้นส่งออกไก่เพิ่มหลังจีน-อียูระงับนำเข้าจากบราซิลหลังเผชิญไข้หวัดนกระบาด

Escrito por: aVinews Thailand

จากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกระลอกใหม่ในบราซิล ซึ่งทางการบราซิลยืนยันว่าพบการติดเชื้อไวรัส HPAI สายพันธุ์รุนแรงในฟาร์มแห่งหนึ่ง ส่งผลให้ประเทศจีนและสหภาพยุโรปประกาศระงับการนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากบราซิลชั่วคราว

ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกเนื้อสัตว์ของบราซิลระบุว่า ในปีที่ผ่านมา จีนและสหภาพยุโรปนำเข้าเนื้อไก่จากบราซิลรวมกันกว่า 793,000 ตัน คิดเป็นเกือบ 15% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์นี้ถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการขยายตลาดและรองรับคำสั่งซื้อที่อาจเบนเป้าหมายมายังผู้ผลิตไทย ที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านสุขภาพสัตว์ในระดับสากล

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (HPAI) ในฟาร์มของบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ ทำให้ประเทศคู่ค้าอย่างจีนและสหภาพยุโรปประกาศระงับการนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากบราซิลเป็นการชั่วคราวทันที

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยเคยเผชิญกับโรคไข้หวัดนกเพียงครั้งเดียวเมื่อกว่า 10 ปีก่อน และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่เคยพบการระบาดซ้ำอีกเลย ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา กรมปศุสัตว์ได้วางมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก นอกจากนี้ กรมฯ ยังเน้นย้ำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคในฟาร์มอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในช่วงสภาพอากาศแปรปรวน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด พร้อมรักษาความเชื่อมั่นจากตลาดส่งออก ซึ่งอาจกลายเป็นโอกาสให้คำสั่งซื้อเนื้อไก่จากต่างประเทศไหลเข้าสู่ไทยมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยสามารถป้องกันโรคได้ดีเยี่ยม

สำหรับมาตรการป้องกันไข้หวัดนกในฟาร์มของไทย ซึ่งมีความเข้มงวดและครอบคลุมทั้งกระบวนการผลิตและการควบคุมโรค มีแนวทางสำคัญดังนี้

  1. ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ซึ่งเข้มงวดในเรื่องการควบคุมบุคคลและยานพาหนะเข้า-ออกฟาร์ม ต้องผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนเข้า-ออกเสมอ อุปกรณ์และเครื่องมือในฟาร์มต้องได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ ห้ามนำสัตว์ปีกหรือผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากแหล่งที่ไม่ทราบประวัติหรือพื้นที่เสี่ยงเข้าสู่ฟาร์มอย่างเด็ดขาด รวมถึงการจัดการมูลสัตว์และซากสัตว์ปีกอย่างถูกสุขลักษณะ
  2. ระบบเลี้ยงสัตว์ปีกแบบฟาร์มปิดตามมาตรฐานสากล (WOAH) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์ม ไปจนถึงโรงงานแปรรูป ต้องมีการควบคุมและติดตามสุขภาพสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง
  3. การเฝ้าระวังและติดตามสุขภาพสัตว์อย่างเชิงรุกและเชิงรับ โดยต้องมีการตรวจสอบสุขภาพสัตว์ปีกในฟาร์มเป็นประจำ หากพบสัตว์ป่วยหรือเสียชีวิตผิดปกติ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที พร้อมทั้งส่งเสริมการอบรมและให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการตรวจสอบและป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง
  4. การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ต้องมีการตรวจสอบและควบคุมอย่างเข้มงวด รวมทั้งงดนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ ไก่ไข่ และเนื้อสัตว์ปีกจากประเทศที่มีการระบาดของไข้หวัดนก เพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศ
  5. การทำลายสัตว์ปีกในกรณีที่สงสัยว่าป่วยตายผิดปกติในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดวิทยา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานด้านการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดในปศุสัตว์จะเป็นความร่วมมือแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งไม่ใช่เฉพาะฟาร์มไก่เท่านั้นที่ต้องให้ความสำคัญ แต่รวมถึงฟาร์มสุกร โค และแพะ-แกะ ด้วย เพื่อให้ประเทศไทยยังคงสถานะเป็นประเทศปลอดโรคและรักษาความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรระดับสากลต่อไป

Exit mobile version