ผู้เลี้ยงไก่ไข่เผชิญปัญหาต้นทุนสูงในปี68 หวั่นความอยู่รอดของเกษตรกร
สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในปี 2568 โดยเกษตรกรต้องเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย เช่น การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น และความเสี่ยงจากโรคระบาดไข้หวัดนกที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ปีกในภูมิภาคเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า ในปีนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขึ้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง […]
Available in other languages:สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในปี 2568 โดยเกษตรกรต้องเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัย เช่น การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น และความเสี่ยงจากโรคระบาดไข้หวัดนกที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ปีกในภูมิภาคเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน
นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า ในปีนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขึ้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ต้นทุนผลิตในปีหน้าพุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ โรคระบาดไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน ยังสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสัตว์ปีกทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะทำให้เกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดูแลสวัสดิการของแรงงานในฟาร์ม เช่น ที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงกว่าค่าแรงทั่วไป
นายมงคลกล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปี 2568 ผู้เลี้ยงไก่ไข่จะต้องเผชิญกับความยากลำบากหลายด้าน ทั้งการปรับค่าแรง วัตถุดิบอาหารสัตว์ และโรคระบาดไข้หวัดนก ซึ่งส่งผลให้แม่ไก่ไข่ต้องตายจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกษตรกรหลายรายอาจไม่สามารถปรับตัวได้"
ราคาขายไข่ไก่หน้าฟาร์มยังคงปรับลดลงจากเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยลดจากฟองละ 4 บาท เหลือฟองละ 3.60 บาท ซึ่งราคาเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต หากแนวโน้มต้นทุนยังคงเพิ่มขึ้นเช่นนี้ เกษตรกรอาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่องและผู้บริโภคมีไข่บริโภคเพียงพอ
ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 2.7 ล้านราย ซึ่งผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องควบคุมต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง เพื่อรักษาคุณภาพอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคตามมาตรฐานสากล และสร้างเสถียรภาพราคาให้กับผู้เลี้ยงและผู้บริโภคสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน